หมู่ที่ 2 บ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน ประวัติหมู่บ้านช่องฟืน บ้านช่องฟืน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ในสมัยก่อนชาวบ้านต้อง ไปขายไม้ฟืนที่อำเภอสทิงพระในฝั่งของตำบลคูขุด เพื่อนำฟืนที่ได้ไปแลกเป็นสินค้า ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีเตาแก๊สที่ทันสมัย จึงใช้ไม้ฟืนเป็นเครื่องหุงต้มอาหาร ซึ่งชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านช่องฟืนจะมีการ ประกอบอาชีพหมกปูนหรือเผาปูน ประมาณ 90-100 ปีก่อน ชาวบ้านบ้านช่องฟืนจะนำเอาหินมาจากเกาะกระที่มีอยู่ในเกาะบริเวณทะเลสาบสงขลา ขั้นตอนกรรมวิธีในหมกปูนคือการนำเอาหินปูนมาเผาในเตาเผาปูน เป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน เมื่อครบตามกำหนดระยะเวลาหินปูนที่นำเข้าไปเผาจะมีการแตกตัวจนละเอียดกลายเป็นผงสีขาว และผงสีขาวที่ได้มาจากการเผาหินปูนนี้เรียกว่า “ปูนขาว” การผลิตปูนขาว จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ฟืนเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาหินปูนโดยการเผาหินปูนเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในหมู่บ้านจึงไม่เพียงพอแก่การเผาปูน ชาวบ้านในหมู่บ้านจะต้องเดินทางไปหาไม้ฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงในการเผาจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งเส้นทางที่ชาวบ้านช่องฟืนใช้ในการหาฟืนเป็นเส้นทางระหว่างภูเขาภายในหมู่บ้าน ช่องทางดังกล่าวมีระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ช่องทางดังกล่าวจึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านที่เรียกสืบทอดกันต่อมาว่า “บ้านช่องฟืน” มาจนถึงปัจจุบัน เกาะกระ เป็นเกาะขนาดเล็กกลางทะเลสาบสงขลาตอนใน เป็นเกาะที่อยู่นอกเขตสัมปทานของบริษัทเก็บรังนก และเกาะแห่งนี้ในอดีตเป็นสถานที่พักของชาวประมงที่หาปลาอยู่ในทะเลสาบ หลังจากที่ได้วางเครื่องมือดักจับปลาแล้ว ชาวประมงจะล่องเรือไปพักอยู่ที่เกาะเพื่อรอเก็บปลาที่ดักจับไว้ และเกาะกระก็ไม่มีสัตว์ หรือผู้คนอยู่อาศัย แม้แต่นกอีแอ่นก็ไม่มีการสร้างรังอยู่ในเกาะแห่งนี้ แต่ปัจจุบันเจ้าของกิจการร้านอาหารริมทะเล ได้ลงทุนสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่ทวด เจ้าแม่กวนอิม สระน้ำกระจก ศาลา 12 เหลี่ยม สะพาน 12 นักษัตร เพื่อพัฒนาทางเดินรอบ ๆ เกาะ และสร้างห้องน้ำห้องส้วม ตบแต่งแสงสีภายในถ้ำ โดยมีการนำเจ้าแม่กวนอิมไปประดิษฐานไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้บูชาขอพรภายในถ้ำ บริเวณโดยรอบเกาะกระยังมีหินงาม 3 ชนิด ที่มีอายุถึง 5,000 ปี และนักท่องเที่ยวยังสามารถมาเสี่ยงโชคกับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง และเดินสะพานสั่นระฆัง 12 นักษัตรได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีเถาวัลย์ 1,000 ปี ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าคู่รักคู่ไหนที่ได้ไปถ่ายรูปคู่ด้วยกันจะทำให้รักกันยืนยาวเป็นพันปี ล่องแพบ้านช่องฟืน เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสบรรยากาศในรูปแบบใหม่ โดยมีกิจกรรมนันทนาการบนแพ พร้อมทั้งอาหารทะเล เครื่องดื่ม และที่พักในราคา 12,000 บาท ต่อ 1 วัน สามารถรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 60 คน ซึ่งชั้นที่ 2 ของแพ จะเป็นที่พักผ่อนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการร้องเพลงสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อความบันเทิง และได้เรียนรู้วิถีชีวิตการเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ หน่วยพิทักษ์ป่าอ่าวท่ายาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2538 เป็นหน่วยงานย่อยของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา-พัทลุง มีสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น ป่าพรุ และทะเลสาบมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 1.50 เมตร น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำกร่อย น้ำจืด และน้ำเค็ม ซึ่งลักษณะ 3 น้ำของทะเลสาบนี้มีผลทำให้สัตว์น้ำ จำพวก กุ้งหอย ปู ปลา มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น บริเวณโดยรอบหน่วยพิทักษ์ป่าอ่าวท่ายางมีพันธุ์ไม้ในพื้นที่ เช่น ต้นโกงกาง ลำภู โพธิ์ทะเล เสม็ดขาว เสม็ดแดง เป็นต้น และสัตว์ป่าในพื้นที่มี 2 ประเภทสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่า และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบจำพวกนกน้ำ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าได้แก่ ตะกวด ไก่ป่า อีเห็น กระรอก กระแต ชะมด เป็นต้น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบมี 2 จำพวก คือนกประจำถิ่น และนกอพยพ นกประจำถิ่น เช่น นกเป็ดน้ำ เป็ดแดง อีโก้ง กาน้ำเล็ก ตีนเทียน กระสานวล กระสาแดง อีล่ำ ยางโทน ยางเปีย และนกอพยพ เช่น นกปากห่าง นกช้อนหอยดำเหลือบ นกเป็ดแดง นกเป็ดคาบแค เป็นต้น นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวยังมีจุดที่น่าสนใจบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าอ่าวท่ายางจะมีเทศกาลงาน ย้อนรอยประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) เป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 23 - 26 เดือนกรกฏาคม และมีการบวงสรวงพระบรมรูป (ร.5) อีกด้วย หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ในอดีตได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบริเวณเกาะสี่เกาะห้า และได้สังเกตเห็นรอยพระบาทด้านบนผนังหน้าผาเชิงถ้ำ จึงมีความศรัทธาว่าสิ่งที่เห็นคือ รอยเท้าของหลวงปู่ทวด หลังจากนั้น จึงนำคนที่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาท่องเที่ยว และได้ระดมเงินสร้างเกาะกระร่วมกับบริษัทหาดทอง จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจะเป็นชาวจีน มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งได้เดินทางมากราบไหว้หลวงปู่ทวดที่ชาวต่างชาตินับถือกันเป็นจำนวนมาก
Comment
Rate : / 5