ประวัติบ้านเขาแดง บ้านเขาแดงตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีตำนานเล่าว่า มีตายายสองผัวเมียครองคู่อยู่กินกันมาเป็นเวลานาน ไม่มีบุตรที่จะสืบสกุล ตายายทั้งสองจึงได้ตกลงกันว่า จะไปเซ่นไหว้ขอลูกจากเทพารักษ์ ซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อได้ตกลงกันแล้ว ก็ได้นำดอกไม้ ธูปเทียน เดินทางไปยังต้นไม้ใหญ่ เพื่อขอบุตรจากเทพารักษ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ตายายจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ได้ลูกชายที่มีร่างกายแข็งแรง และไม่มีใครสู้ได้ หลังจากที่ตายายได้เซ่นไหว้แล้ว ก็เดินทางกลับบ้าน ต่อมาไม่นานนักยายก็เริ่มตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดยายได้คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชายที่มีร่างกายแข็งแรงใหญ่โต จึงสร้างความปิติยินดี ให้กับสองตายายเป็นอย่างมาก และได้ตั้งชื่อลูกชายว่า แรง ตามลักษณะของรูปร่าง ต่อมาความเห่อลูกและความยินดีที่มีต่อลูกชายของตนก็ค่อยๆ หมดไปทีละน้อย จนในที่สุดความสุขของครอบครัวก็ไม่มีอยู่เลย มีแต่ความทุกข์ ความหนักอกหนักใจ เข้ามาแทนที่ เพราะความหมดเปลืองในการเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างมาก และเมื่อนายแรงมีอายุมากขึ้น จนกระทั่งได้ 20 กว่าปี กินข้าววันละ กะทะโตๆ ถึงจะอิ่ม แต่ตนไม่ได้ทำมาหากินช่วยเหลือพ่อแม่เลย พ่อแม่ต้องเลี้ยงตนฝ่ายเดียว จึงเป็นภาระหนัก ในที่สุดความอดทนของตายายก็สิ้นสุด ทั้งสองจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี เพราะลูกคนนี้เกิดมามีแต่เบียดเบียนพ่อแม่เท่านั้น งานก็ไม่ทำมีแต่จะกินฝ่ายเดียว และที่เราหมดเนื้อหมดตัวก็เพราะลูก จึงคิดที่จะกำจัดลูก โดยวิธีนำไปฆ่าเพื่อให้หมดเวรหมดกรรม ตาได้นำนายแรงไปตัดไม้ในป่า ซึ่งตาได้เลือกต้นไม้ใหญ่ที่สุด เมื่อโค่นไปต้นไม้เกือบจะล้ม ฝ่ายตาจึงบอกนายแรงช่วยไปรับไม้ไว้ เพื่อไม่ให้ไม่ล้มฟาดดิน เพราะตาบอกว่าถ้าไม้ล้มฟาดดินพื้นไม้จะเสีย นายแรงก็เข้าไปรับไม้ทันทีตามพ่อบอก นายแรงจึงถูกไม้ทับจมลงไปในดิน ฝ่ายตา ผู้เป็นพ่อ เมื่อเห็นนายแรงถูกไม้ทับจมดิน ก็เข้าใจว่าลูกชายต้องตายแน่ จึงรีบกลับบ้านไปบอกให้ยายฟัง และคิดว่าคงหมดทุกข์ไปเสียที แต่ช่างอัศจรรย์เหลือเกิน ขณะที่ตายายนั่งคุยกันอยู่นั้น นายแรงก็แบกไม้ทั้งต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่กิ่งก้าน และใบเต็มต้น แล้วนายแรงก็ตะโกนว่า จะให้วางตรงไหน ตายายเห็นดังนั้นก็ตกใจคิดว่าผีลูกชายมาหลอกก็พากันวิ่งหนีเข้าป่าไป นายแรงจึงวางต้นไม้นั้นลง และเริ่มแคลงใจว่า พ่อแม่คงไม่รักตน และคิดจะฆ่าตน เพราะตนมัวแต่กินอย่างเดียว ทำให้พ่อแม่จนลงทุกวัน พ่อแม่จึงเกลียด และได้หนีออกจากบ้านไป นายแรงได้เดินทางไปทางทิศเหนือ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง และได้ไปพบตะกวด (แลนยักษ์) ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง นายแรงดีใจมาก เพราะหวังจะได้แลนเป็นอาหาร จึงไล่จับทันที แลนวิ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในรู นายแรงจึงขุดแลนไปเรื่อย ๆ เมื่อนายแรงขุดไป แลนได้วิ่งออกไปอีกรูหนึ่ง นายแรงรีบตามไปทันที ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง เมื่อนายแรงจับแลนได้จึงฟาดกับภูเขาลูกนั้น จนเลือดแลนไหลนองเต็มหน้าผา ภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า ” เขาแดง” ตั้งแต่นั้นมา และเป็นชื่อบ้านเขาแดงจนถึงปัจจุบัน พ่อท่านหมุน เป็นพระสงฆ์ที่ฝักใฝ่ในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้เลือกจำพรรษาที่วัดเขาแดงตะวันออก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ห่างจากชุมชน มีธรรมชาติอันร่มรื่น และสงบ เหมาะต่อการบำเพ็ญภาวนา นอกจากนี้ท่านยังมีความสนใจในเรื่องของวิทยาคม และไสยศาสตร์ จึงได้ไปเรียนวิชากับพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าสำนักเขาอ้อ และมีกิตติคุณเลื่องลือตั้งแต่ภาคใต้ไปตลอดแหลมมลายู จนได้รับขนานนามว่า “ปรมาอาจารย์แห่งไสยศาสตร์ของภาคใต้” ต่อมาพ่อท่านหมุนยังคงอยู่ในเพศบรรพชิตมาโดยตลอด จนกระทั่งท่านมรณภาพพ่อท่านหมุน มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่ยังหนุ่ม เป็นพระเกจิอาจารย์หนึ่งเดียวของภาคใต้ที่ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลมากที่สุด ท่านร่วมพิธีปลุกเสกมาตั้งแต่ครั้งสมัยสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้แต่พิธีปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดต่าง ๆ ล้วนแต่อาราธนาพ่อท่านหมุนให้ไป ปลุกเสก นอกจากนี้พ่อท่านหมุนยังมีคุณวิเศษอย่างหนึ่งคล้าย ๆ หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีคนเอาแผ่นทอง มาปิดตามร่างกายท่านทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากชาวบ้านบนบานขอให้ท่านช่วย เมื่อสำเร็จสมปรารถนา จึงพากันมาปิดทองเพื่อเป็นการแก้บน ปัจจุบันรูปปั้นพ่อท่านหมุน ยสโร ได้ประดิษฐานอยู่ที่บ้านเขาแดง ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีสีทองอร่ามไปทั่วทั้งองค์ ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดใหญ่ มีบันไดสองข้าง เพื่อเป็นทางเดินขึ้นไปสักการะ ซึ่งบริเวณโดยรอบโอบล้อมด้วยภูเขา และทุ่งนา พร้อมเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ถ้ำเขาแดง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพัทลุง โดยด้านบนของเพดานถ้ำเป็นโค้งสวยงาม และมีลมเย็นพัดเข้ามาตลอดเวลา เมื่อเดินลึกเข้าไปราว 100 เมตร จะพบห้องโถงขนาดใหญ่ มีลักษณะโล่งกว้าง มีหินงอกหินย้อย และบริเวณหินงอกจะมีน้ำใสไหลซึมออกมา พร้อมกับซอกถ้ำเล็ก ๆ อีกหลายช่อง เมื่อเดินลึกเข้าไปราว 300 เมตร ก็จะพบถ้ำขนาดใหญ่เป็นถ้ำที่สอง มีม่านหินย้อยสีขาวสวยใส และเป็นเกล็ดทอง พร้อมทั้งความหลากหลายของหินย้อยในรูปร่างต่าง ๆ หากเดินสำรวจเข้าไปราว 600 เมตร จะพบห้องโถงขนาดใหญ่อีก 1 ห้อง ซึ่งมีความสวยงามที่ทุกคนต้องมาสัมผัส อีกทั้งยังมีเส้นทางล่องเรือชมความงามในถ้ำที่มีความยาว 450 เมตร นอกจากนี้ถ้ำเขาแดงยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจอีกมากมาย เขาหลักไก่ มีลักษณะเป็นเขาสองลูกเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้กันและมีรูปปั้นไก่สองตัวอยู่ที่เขาสองลูกนี้ เขาหลักไก่เกิดขึ้นจากตำนานที่เล่าสืบทอดต่อกันมาว่า พระโคบาลเป็นคนที่มีนิสัยชอบโอ้อวด ชอบท้าตีชนไก่ไปทั่ว จนได้มาเจอกับพระรถเมรีและท้าทายชนไก่กับพระรถเมรีว่า “ถ้าไก่ของตนแพ้ไก่ของพระรถ ตนจะไม่เล่นการพนันอีกต่อไป และสัญญาว่าจะเอาของกินของใช้ไปให้พี่น้องของพระรถได้กินได้ใช้” จากนั้นทั้งคู่ก็ได้นำไก่มาแข่งชนกัน จนไก่ของพระโคบาลแพ้ไป พระโคบาลเสียใจมากจึงได้ไปนั่งหันหลังร้องไห้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเขาแดงที่มีให้เห็นจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนหลักไก่ที่ใช้ล่ามไก่ของพระรถเมรีและไก่ของตาโคบาล ก็กลายเป็นเขาหลักไก่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์การเรียนรู้แกะหนังตะลุง งานแกะสลักหนังตะลุง เป็นหัตถศิลป์พื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดพัทลุง ซึ่งการแกะรูปหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดงนั้น ช่างแกะหนังตะลุง ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเวลายาวนาน และต้องมีศิลปะ ความละเอียด ความปราณีต มีใจรัก มีจินตนาการที่ดี และต้องศึกษาประวัติความเป็นมา บุคลิกภาพของรูปตัวหนังตะลุงที่จะแกะว่ามีรูปแบบหน้าตา เอกลักษณ์ของรูปหนังแต่ละตัวว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้แกะรูปภาพออกมาตามแบบตัวละครที่สวยงาม และมีชีวิตชีวา ตลอดทั้งความเชื่อในการแกะรูปหนังตะลุง ที่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้ยึดถือกันตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเอง และคณะหนังตะลุง ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างการแกะรูปหนังตะลุง หรือการแสดงหนังตะลุง ช่างแกะหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครู อาจารย์ และพระพิฆเณศวร์ผู้ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนังเพื่อแกะรูปหนังตะลุงตัวแรก พร้อมกล่าวเป็นคาถาเบิกตา เสร็จแล้วกล่าวคาถาเบิกปากรูป เป็นอันว่ารูปตัวต่อ ๆ ไปที่ทำในวันนั้น ทำต่อไปได้ไม่ต้องว่าคาถาแล้ว แต่พอเริ่มวันใหม่ต้องว่าคาถาเหมือนเดิม ช่างแกะจึงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาในการแกะรูปหนังตะลุงได้โดยสามารถสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ และหัตลักษณ์เฉพาะตัวของรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี
Comment
Rate : / 5