พิพิธภัณฑ์คติชน เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ก่อตั้งโดยศาสตรจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ บนพื้นที่กว่า 23 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณใกล้เชิงสะพานติณณสูลานนท์ ส่วนที่2 ริมทางหลวงหมายเลข 4146 มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่จุดบนสุดของพื้นที่สามารถมองเห็นวิวทะเลสาบส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้านและสะพานเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2534โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร 3 กลุ่มอาคาร ได้แก่ อาคารบ้านหลังคาจั่ว อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยาและอาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ(มะนิลา) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามบรมราชกุมารพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนวมภูมินทร์เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2539 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จัดแสดงข้อมูลและวัตถุต่าง ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรมต่างๆที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงภูมิปัญญาของกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย สถาบันฯก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินกว่า 21 ล้านบาทสมัย เริ่มก่อสร้างในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้วางศิลาในการเริ่มก่อสร้างสถาบันแห่งนี้
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยามีการจัดแสดงใช้วัตถุของจริงประมาณ 49,000 ชิ้น และยังมีภาพ เสียง วีดีทัศน์ และ หุ่นจำลอง รวมถึง มัลติมีเดีย (Multimedia) จัดแสดงประกอบเนื้อหา เป็นแบบนิทรรศการถาวร ในอาคาร 4 กลุ่ม คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 33,000 ตารางเมตร ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวทางทักษิณคดีศึกษาแบ่งเป็นห้องต่างๆ ที่จะแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งไม่ได้จัดแสดงกลุ่มวัตถุตามยุคสมัยเหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วไป แต่แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหมวดหมู่ตามเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ ควรมีเวลาเข้าชมอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เนื่องจากพื้นที่กว้างขวางและมีห้องจัดแสดงวัตถุประเภทต่างๆ ในอาคาร 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มอาคารนวมินทร์ ประกอบด้วย: ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องลูกปัดและเครื่องประดับ ห้องมีดและศาสตราวุธ ห้องอาชีพของคนใต้ ห้องเครื่องมือจับสัตว์ ห้องเครื่องปั้นดินเผา ห้องผ้าทอพื้นเมือง
กลุ่มอาคารหลังคาบลานอ (มะนิลา): ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว ห้องศิลปหัตถกรรม ห้องจัดการศึกษา ห้องนันทนาการ ห้องวัฒนธรรมเครื่องประทีป ห้องวัฒนธรรมเครื่องแก้ว
กลุ่มอาคารหลังคาปั้นหยา : ห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช ห้องการละเล่นพื้นบ้าน ห้องมุสลิมศึกษา ห้องเหรียญและเงินตรา
กลุ่มอาคารหลังคาจั่ว จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวใต้ : ห้องสามสมเด็จฯ เพื่อนเกลอและประเพณีการเกิดแบบโบราณ ห้องการเล่นของเด็กภาคใต้ ห้องการฝากตัวเข้าเรียนกับพระ การผูกเกลอ ห้องประเพณีการบวช ห้องความเชื่อโชคชะตาราศีและวัฒนธรรมการรักษาพยาบาล ห้องประเพณีออกปากกินวาน ห้องประเพณีขึ้นเบญจา
อาคารนวภูมินทร์ : ห้องสงขลาศึกษา ห้องเอกสารท้องถิ่น* ห้องวรรณกรรมท้องถิ่น* ห้องพิพิธภัณฑ์ภาพ* ห้องพิพิธภัณฑ์เสียง*
*เปิดให้บริการเฉพาะในวันและเวลาราชการ
ห้องเด่นๆที่ได้รับความสนใจ เช่น ห้องวัฒนธรรมมะพร้าว ซึ่งรวบรวมวัตถุที่ใช้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับความสำคัญของมะพร้าว ทั้งวิธีการเก็บ การปลอก วิถีชีวิตของคนทางใต้ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว มีการจัดแสดงกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่างๆที่บ่งบอกถึงศิลปะ อารมณ์และฝีมือของคนในยุคสมัยต่างๆ ห้องผ้าทอ ห้องลูกปัดและเครื่องประดับ ห้องมีดและศาสตราวุธ
นอกจากนี้ยังมีห้องอัครศิลปิน ที่จัดแสดงประวัติและผลงานศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามมกุฏราชกุมารี ห้องศิลปินแห่งชาติ ที่มีประวัติและแสดงภาพผลงานตั้งแต่เริ่มต้นการจัดประกาศให้มีศิลปินแห่งชาติขึ้น
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลพบุรีราเมศวร์ และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย ไปตามทางหลวงสาย 4146 ทางไปเกาะยอ ใกล้สะพานติณสูลานนท์ ช่วงที่ 2 หรือนั่งรถโดยสารประจำทางจากในตัวเมือง ลงที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย และต่อรถมอเตอร์ไซค์หรือรถหลังคาสูงสีแดง
**ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากมิวเซียมไทยแลนด์
Comment
Rate : / 5