หมู่ที่ 7 บ้านโหล๊ะหาร ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน ประวัติหมู่บ้านโหล๊ะหาร บ้านโหล๊ะหารตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ที่ได้ชื่อว่า “โหล๊ะหาร”เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ชาวบ้านเรียกพื้นที่ราบลุ่มนี้ว่า “โหล๊ะ” และ ภายในโหล๊ะ มีแหล่งน้ำชาวบ้านเรียกว่า “หาร” เมื่อเรียกรวมกันจึงเป็น “บ้านโหล๊ะหาร” จนถึงปัจจุบัน เดิมหมู่บ้านโหล๊ะหารเป็นบ้านร้างมี เสือ แรด ช้าง กวาง หมี หมู อยู่อาศัย เมื่อปี พ.ศ. 2502 นายลี ดำแป้น นายหลุบ ดำแป้น นายฮวด ลอยจิ้ว ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ และได้นำคณะญาติเข้ามาร่วมกันสร้างเป็นชุมชนเล็ก ๆ ซึ่งในขณะนั้นหมู่บ้านโหล๊ะหารยังเป็นส่วนหนึ่งของตำบลหนองธง จนกิ่งอำเภอป่าบอนประกาศแยกออกจากตำบลหนองธง มาเป็นตำบลทุ่งนารี โหล๊ะหารจึงได้เป็นหมู่บ้านลำดับที่ 7 ของตำบลทุ่งนารี มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินสูง สภาพดินอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายเช่น คลองป่าบอน คลองพรุพ้อ พื้นที่เหมาะแก่การทำสวนเช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง เนื่องจากมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นลำคลองส่งน้ำเหมาะแก่การเลี้ยงปลาในกระชัง และมีการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ชนเผ่าพื้นเมืองมานิ มานิ อาศัยอยู่ในป่าหลังอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับพันปี เป็นตัวแทนของกลุ่มคนยุคเริ่มแรกก่อนสร้างบ้านเมืองถาวร และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรักษาองค์ความรู้ของการใช้ชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าภาคใต้ของประเทศไทย ที่จัดในกลุ่มล่าสัตว์ และหาของป่า มานิถูกเรียกชื่อหลายอย่างตามการตีความของนักวิชาการ และคนในพื้นที่ เช่น “เซมัง” “ซาไก” “โอรังอสาลี” รวมทั้งคำว่า “เงาะป่า” แต่พวกเขาชอบให้เรียกตัวเองว่า “มานิ” มากกว่า เพราะมานิ แปลว่ามนุษย์ส่วนคำอื่น ๆ แปลว่า คนป่า คนเถื่อน ยกเว้นคำว่า โอรังอสาลี เป็นภาษามลายูแปลว่าชนพื้นเมือง ซึ่งการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวมานินั้นแสดงถึงการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศป่าดิบชื้นบนเทือกเขาบรรทัด มานิเป็นผู้บุกเบิกเข้ามาอยู่อาศัย ใช้ชีวิตเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร และครอบครองพื้นที่มายาวนานหลายร้อยหลายพันปี ตามการอ้างอิงประวัติศาสตร์ของนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ลักษณะของมานิมีรูปพรรณที่ค่อนข้างล่ำเตี้ย สันทัด ผิวสีดำแดง ผมหยิก เป็นกลุ่มคนที่จัดอยู่ในตระกูลนิกริโต และตระกูลออสโตรเนเซียน มีพัฒนาการชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และยาวนานในผืนป่าแหลมมลายู ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย มานิส่วนใหญ่ยังมีการดำรงชีวิตมีวิถีวัฒนธรรมแบบล่าสัตว์หาของป่าด้วยการพึ่งพิงแหล่งอาหารจากป่าธรรมชาติ เผือก มัน กลอย เป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และมีสัตว์ป่าเป็นแหล่งโปรตีน น้ำตกแม่แตง เป็นน้ำตกที่มีมีน้ำไหลตลอดทั้งปี สายน้ำทั้งหมด 5 ชั้น โดยชั้นที่สวยงามจะอยู่ในชั้นที่ 3 ชั้น 4 และชั้นที่ 5 ทั้ง 5 ชั้นจะเป็นที่วางตัวเรียงกันโดยสายน้ำจะไหลทิ้งตัวลงมายังด้านล่าง เหมาะสำหรับการพักผ่อนทั้งแบบไปกลับ หรือกางเต็นท์ริมน้ำตกได้หลายจุดเป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งในตำบลหนองธงที่มีความสวยงาม เส้นทางไปน้ำตกเลียบอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนมีทิวทัศน์ที่สวยงามบรรยากาศร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ เหมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุด สวนน้ำบ้านโหล๊ะหารประชารัฐ เป็นสวนน้ำที่เกิดจากแนวคิดของคนในชุมชนจนได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น เป็นสวนน้ำที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำสไลเดอร์น้ำ เพื่อไว้ให้เด็ก และคนในหมู่บ้านได้ใช้เล่นเพื่อความสนุก และผ่อนคลาย หลังจากได้งบโครงการประชารัฐหมู่บ้านละ 200,000 บาท จากรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการสไลเดอร์น้ำของหมู่บ้าน โดยชาวบ้านได้ร่วมกันทำประชาคมเห็นชอบให้สร้างสไลเดอร์น้ำ เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งต่างจากไปจากหมู่บ้านอื่น ส่วนการสร้างสไลเดอร์น้ำนั้น เด็ก ๆ ในหมู่บ้านจะได้เล่นน้ำกันในหมู่บ้าน ไม่ห่างไกลจากผู้ปกครอง และสามารถสร้างรายได้เข้าชุมชน อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สร้างความสามัคคีในชุมชน โดยความปลอดภัยมีการรับรองความปลอดภัย 100% โดยมีชาวบ้านคอยเป็นสต๊าฟช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยววันละ 5 คน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่มาเยือน ภายในสวนน้ำจะเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว มีร้านค้า ร้านขนม ร้านอาหารต่าง ๆ ไว้คอยบริการ และมีห่วงยางสำหรับเด็ก ๆ ไว้ให้เช่าอีกด้วย อ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนตั้งอยู่ที่ บ้านโหล๊ะหารหมู่ 7 ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เป็นหนึ่งในโครงการที่มีประโยชน์ ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และช่วยให้เกษตรกรมีน้ำพอเพียงในการเกษตรรวมทั้งอาชีพเสริมโดยสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายทดน้ำคลองป่าบอน ซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 7,000 ไร่ ให้มีน้ำสำหรับทำนาได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง บรรยากาศโดยรอบสงบ สวยงาม เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ จ.พัทลุง ที่งดงามทั้งภูมิศาสตร์ของอ่างเก็บน้ำและขุนเขาโดยริมอ่างด้านขวาเป็นจุดที่น่าสนใจและน่าพักผ่อน ทางชลประทานได้สร้างสะพานปูนเป็นระยะทางยาวกว่า 1,700 เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินชมทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งชมผืนป่าดิบชื้นภาคใต้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดพัทลุง
Comment
Rate : / 5